Microplastic ภัยเงียบต่อสิ่งมีชีวิตที่มนุษย์สร้างขึ้น

 

Microplastics
       ภัยเงียบต่อสิ่งมีชีวิตที่มนุษย์สร้างขึ้น

 

Microplastics (ไมโครพลาสติก) คือ อนุภาคพลาสติกที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร ที่เกิดจากการย่อยสลายหรือแตกหักของขยะพลาสติกขนาดใหญ่ หรือเกิดจากพลาสติกที่มีการสร้างให้มีขนาดเล็ก เพื่อให้เหมาะกับวัตถุประสงค์การใช้งาน ส่วนใหญ่มีรูปร่างทรงกลม ทรงรี หรือบางครั้งมีรูปร่างไม่แน่นอนประกอบด้วยอะตอมธาตุคาร์บอน (C) และไฮโดรเจน (H) มาเชื่อมต่อกันกลายเป็นสายพอลิเมอร์ (Polymer) นอกจากนี้ยังมีสารเคมีอื่น ๆ ด้วย เช่น Phthalates, Polybrominated diphenyl ethers (PBDEs) และTetrabromobisphenol A (TBBPA)

 

ไมโครพลาสติกสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท

Primary microplastics เป็นพลาสติกที่ถูกผลิตให้มีขนาดเล็กมาตั้งแต่ต้น เพื่อการใช้ประโยชน์เฉพาะด้าน เช่น เม็ดพลาสติกที่นำมาใช้เป็นวัสดุตั้งต้นของการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติก (Plastic pellet) เม็ดพลาสติกที่อยู่ในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวหน้า เครื่องสำอาง หรือยาสีฟัน (Plastic scrub) ซึ่งมักเรียกกันว่า ไมโครบีดส์ (Microbeads) หรือเม็ดสครับ ไมโครพลาสติกประเภทนี้สามารถแพร่กระจายสู่สิ่งแวดล้อมทางทะเลจากการทิ้งของเสียโดยตรงจากบ้านเรือนสู่แหล่งน้ำและไหลลงสู่ทะเล

 

Secondary microplastics เป็นพลาสติกที่เกิดจากพลาสติกที่มีขนาดใหญ่ หรือมาโครพลาสติก (Macroplastic) ซึ่งสะสมอยู่ในสิ่งแวดล้อมเป็นเวลานานเกิดการย่อยสลายหรือแตกหัก โดยกระบวนการย่อยสลายพลาสติกขนาดใหญ่ให้กลายเป็นพลาสติกขนาดเล็กนี้สามารถเกิดได้ทั้งกระบวนการย่อยสลายทางกล (Mechanical degradation) กระบวนการย่อยสลายทางเคมี (Chemical degradation) กระบวนการย่อยสลายทางชีวภาพ (Biological degradation) และกระบวนการย่อยสลายด้วยแสงอาทิตย์ (UV degradation) ซึ่งกระบวนการเหล่านี้จะทำให้สารแต่งเติมในพลาสติกหลุดออก ส่งผลให้โครงสร้างของพลาสติกเกิดการแตกตัวจนมีขนาดเล็ก กลายเป็นสารแขวนลอยปะปนอยู่ในแม่น้ำและทะเล

     

 

ปัจจุบันไมโครพลาสติกกลายเป็นปัญหามลพิษทางทะเลที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งทั่วโลก เนื่องจากมีขนาดเล็กมาก ทำให้ยากต่อการเก็บและการกำจัด รวมถึงมีคุณสมบัติที่คงสภาพ ย่อยสลายได้ยาก เมื่อมีการระบายน้ำที่ผ่านการบำบัดน้ำเสียลงสู่สิ่งแวดล้อม ส่งผลให้ไมโครพลาสติกสามารถปนเปื้อน แพร่กระจาย สะสม และตกค้างในสิ่งแวดล้อมได้ง่าย โดยการแพร่กระจายของไมโครพลาสติกในสิ่งแวดล้อมทางทะเลพบได้ทั้งในน้ำ และตะกอนดิน หากสิ่งมีชีวิตในทะเลกินเอาไมโครพลาสติกเข้าไป ทำให้เกิดการสะสมในห่วงโซ่อาหาร (Food chain) และสามารถถ่ายทอดไปตามลำดับขั้นของการบริโภคอาหารในระบบนิเวศ ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพและการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิต เนื่องจากมีรายงานเกี่ยวกับผลกระทบต่อร่างกายในสัตว์ที่กินเม็ดไมโครพลาสติกเข้าไป เช่น พบว่ากระเพาะของสัตว์บางชนิดมีไมโครพลาสติกอยู่ พบการปนเปื้อนในอุจจาระของมนุษย์โดยไมโครพลาสติกที่พบคือ พอลิเอทธิลีนเทเรฟธาเลท (Polyethylene Terephthalate) หรือที่เรียกกันโดยย่อว่า “PET” ใช้ทำขวดน้ำดื่ม โพลีพรอพีลีน (Polypropylene) หรือ PP เช่น แก้วโยเกิร์ต ถุงร้อนพลาสติกบรรจุอาหาร และโพลีไวนิลคลอไรด์ (Polyvinyl Chloride) หรือ PVC ใช้ทำฟิล์มห่ออาหาร อีกทั้ง ยังมีรายงานเกี่ยวกับสารที่เป็นองค์ประกอบและพบการปนเปื้อนอยู่ในไมโครพลาสติกมักเป็นสารพวกโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (PAHs) โพลีคลอริเนตไบฟีนิล (PCBs) ดีดีที (DDT) และไดออกซิน ซึ่งเป็นสารพิษที่สามารถก่อให้เกิดมะเร็งได้

     

 

การจัดการ Microplastics ในสิ่งแวดล้อม

การจัดการปัญหาไมโครพลาสติกทำได้โดย การลดจำนวนไมโครพลาสติกที่จะเข้าสู่สิ่งแวดล้อมโดยการเลิก การห้ามใช้ การลดการใช้ถุงพลาสติก การใช้พลาสติกชีวภาพ (Bioplastic) ชนิดที่ย่อยสลายได้ (Compostable bioplastic) รวมไปถึงกระบวนการจัดการกับขยะพลาสติกต่างๆ เช่น การใช้ช้ำ การดัดแปลงเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ และการรีไซเคิล ซึ่งเป็นวิธีการที่จะลดไมโครพลาสติกเข้าสู่สิ่งแวดล้อมตั้งแต่ต้นทาง

 

 

ขอบคุณแหล่งที่มา:
- กรมวิทยาศาสตร์บริการ

http://otop.dss.go.th/index.php/knowledge/interesting-articles/273-microplastics
- สํานักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 2
https://epo02.pcd.go.th/th