เกรดสารเคมีสำคัญอย่างไร?
เกรดสารเคมีคืออะไร ?
และทำไมถึงสำคัญ..
เกรดสารเคมี (Chemical grade)
เป็นตัวบ่งชี้ถึงความบริสุทธิ์และคุณภาพของสารเคมีที่ใช้ในงานต่างๆ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในหลากหลายอุตสาหกรรม ตั้งแต่วิทยาศาสตร์การทดลอง อุตสาหกรรมยา อาหาร ไปจนถึงงานอุตสาหกรรมหนัก การเลือกใช้สารเคมีที่มีเกรดเหมาะสมไม่เพียงแค่ช่วยให้ได้ผลลัพธ์ที่ถูกต้องเท่านั้น แต่ยังช่วยลดความเสี่ยงต่อความเสียหายและความปลอดภัยในงานด้วย
เกรดอุตสาหกรรม (Technical grade หรือ Commercial grade) เป็นสารเคมีที่มีความบริสุทธิ์ต่ำโดยปกติสารเคมีชนิดนี้ไม่บอกรายละเอียดของสิ่งเจือปน (Impurity) หรือเปอร์เซ็นต์ความบริสุทธิ์ของสารเคมี ไม่ควรใช้ในห้องปฏิบัติการ เหมาะสำหรับการใช้งานในอุตสาหกรรม เช่น การผลิต การทำความสะอาดเครื่องแก้วและอุปกรณ์ หรือการประยุกต์ใช้งานที่ไม่ต้องการความแม่นยำสูง
เกรด CP (Chemical Pure grade) เป็นเกรดที่มีความบริสุทธิ์สูงกว่าเกรดอุตสาหกรรม (Technical grade) มาตรฐานของความบริสุทธิ์ของสารเคมีเกรดนี้ไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับโรงงานผู้ผลิตเหมาะสำหรับใช้ในงานวิเคราะห์ทั่วไป ไม่เหมาะใช้ในงานด้านอาหาร ยา ทางการแพทย์ ส่วนใหญ่มักใช้ทำ Blank Detection
เกรดห้องปฏิบัติการ (Laboratory reagent grade) เป็นสารเคมีที่มีเปอร์เซ็นต์ความบริสุทธิ์สูงกว่า 95% มีปริมาณสิ่งเจือปนมากกว่าเกรดงานวิเคราะห์ ผู้ผลิตรับรองความบริสุทธิ์และปริมาณสูงสุดของสารปนเปื้อน เหมาะสำหรับใช้งานทั่วไปในห้องปฏิบัติการ
เกรด NF (National formulary grade) เป็นเกรดที่มีความบริสุทธิ์ได้มาตรฐานตามที่ National Formulary (NF) กำหนด คุณสมบัติเหมือนกับเกรดทางยา
เกรดทางยา (Pharmacopoeia grade) เป็นเกรดมีความบริสุทธิ์สูง เหมาะสำหรับใช้ในงานด้านอาหาร ห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ยา ทางการแพทย์ และห้องปฏิบัติการทั่วไป สารเกรดทางยาจะต้องไม่มีสารที่เป็นพิษต่อร่างกายเจือปนอยู่ สารเคมีที่ผลิตตามเภสัชตำหรับมาตรฐานของแต่ละประเทศหรือทวีป จะมีชื่อเรียกต่างกัน เช่น USP ของสหรัฐอเมริกา (United State Pharmacopoeia), BP ของประเทศอังกฤษ (British Pharmacopoeia), EP ของ European Zone (European Pharmacopoeia)
เกรดวิเคราะห์ (Analytical reagent (AR)/Reagent grade) เป็นเกรดที่มีความบริสุทธิ์สูงกว่า 99% มีสิ่งเจือปนในระดับที่น้อยมาก โดยทั่วไปจะมีข้อมูลแสดงปริมาณสารสูงสุดและสารปนเปื้อนสูงสุด (Maximum limits of impurity) บนฉลากข้างภาชนะบรรจุชัดเจน ถ้าสารเคมีได้มาตรฐานตามที่สมาคมเคมีอเมริกัน (ACS) กำหนดไว้จะเขียนระบุไว้ว่า AR (ACS) reagent เหมาะสำหรับใช้ในงานด้านเคมีวิเคราะห์ทางคุณภาพและปริมาณในห้องปฏิบัติการ ใช้ในงานวิเคราะห์ที่ต้องการความแม่นสูง และใช้ในการเตรียมสารละลายมาตรฐาน
เกรด ACS (American chemical society grade) เป็นเกรดที่มีความบริสุทธิ์สูงสุด มีคุณลักษณะเหมือนกับเกรดวิเคราะห์ แต่ที่เพิ่มเติมคือการได้รับการรับรองความบริสุทธิ์ตรงตามมาตรฐานที่ระบุไว้โดย Reagent Chemicals Committee of the American Chemical Society และมีใบประกันรับรองให้ เหมาะสำหรับใช้ในงานวิเคราะห์
เกรดสารเฉพาะงาน (Specific reagent grade) สารเคมีที่ใช้กับเฉพาะงาน หรือมีวัตถุประสงค์เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับเทคนิค เครื่องมือวิเคราะห์ เช่น
- Primary standard grade: มีความบริสุทธิ์สูงมาก มีคุณสมบัติเป็นสารมาตรฐานปฐมภูมิ มีใบรับรองแสดงผลการวิเคราะห์ (Certificated of Analysis: COA) ที่แสดงรายละเอียดของสารปนเปื้อนอย่างชัดเจน
- Spectroscopic grade: งานด้านสเปกโทรสโกปี มีความบริสุทธิ์สูง
- Research grade: งานวิจัยทั่วไป
- Scintillation grade: งานด้านกัมมันตรังสี
- Pesticide grade & Nano grade: งานวิเคราะห์สารกำจัดศัตรูพืช
- Chromatographic grade: งานด้านเทคนิคโครมาโทกราฟี (GC grade) มีความบริสุทธิ์สูงมาก
- Ultra-pure grade: งานด้านเทคนิคโครมาโทกราฟี (HPLC grade, LCMS grade) มีความบริสุทธิ์สูงมาก มีสารเจือปนต่ำ ระดับ ppb (ส่วนในพันล้านส่วน)
ตัวอย่างชื่อเรียกเกรดสารเคมีของแต่ละผู้ผลิต
บริษัทผู้ผลิต |
ประเทศ |
เกรดอุตสาหกรรม |
เกรดห้องปฏิบัติการ |
เกรดวิเคราะห์ |
Fisher Chemical |
England |
Technical |
Extra pure, Analysis |
AR, Analytical reagent |
Alfa Aesar |
England |
- |
LAB |
Analysis |
MERCK |
Germany |
Technical |
Pure, Lab |
GR |
Sigma |
USA |
Techn. |
Purum |
Puriss p.a. / ACS reagent |
Carlo Erba |
Italy |
RE |
ERBApharm |
Purex for analysis/RPE/ACS-Reag Ph.Eur. /Reag. USP |
HiMedia |
India |
Technical/ Purified |
Extra pure/ L.R. |
A.R. |
KemAus |
Australia |
Technical |
Laboratory reagent |
A.R. |
QReC |
New Zealand |
- |
Extra pure |
Grade AR |
ความสำคัญของการเลือกเกรดสารเคมี
- ความปลอดภัย: การใช้สารเคมีที่ไม่เหมาะสมอาจทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้งานและผลิตภัณฑ์ที่ได้
- ความแม่นยำ: งานวิจัยหรือการทดลองที่ต้องการผลลัพธ์ที่ถูกต้องจำเป็นต้องใช้สารเคมีที่มีความบริสุทธิ์สูง
- ประสิทธิภาพในอุตสาหกรรม: การเลือกสารเคมีที่เหมาะสมช่วยลดของเสียและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต
ขอบคุณแหล่งที่มา :
- คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร
https://web.rmutp.ac.th/woravith/?page_id=5894
- กรมควบคุมมลพิษ
https://www.pcd.go.th/wp-content/uploads/2020/05/pcdnew-2020-05-25_08-17-13_807857.pdf